9 วิธีที่อ่านหนังสือที่ดองไว้ให้จบเล่ม ใช้ได้จริง

9 วิธีที่อ่านหนังสือที่ดองไว้ให้จบเล่ม [ใช้ได้จริง]

ประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ทำให้ผมเป็นคนที่ชอบซื้อหนังสือมากเช่นกัน ปัญหาคืออัตราการซื้อมีมากกว่าอัตราการอ่านให้จบ ผลก็คือมีหนังสือที่ “ดอง” ไว้เป็นจำนวนมาก หลาย ๆ คนก็น่าจะประสบปัญหาแบบนี้หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำเพราะซื้อมาแล้วแทบไม่ได้อ่านเลย แต่พอมีงานสัปดาห์หนังสือหรือไปเดินเล่นตามร้านหนังสือก็อดไม่ได้ที่จะซื้ออีก หนังสือที่ยังไม่ได้อ่านก็ยิ่งเพิ่มพูนสะสมมากขึ้นทุกวัน ๆ เลยอยากขอแบ่งปัน 9 วิธีที่อ่านหนังสือที่ดองไว้ให้จบเล่มและใช้ได้จริง ดังต่อไปนี้

1.ลดการซื้อหนังสือใหม่ๆลง

ผมว่าวิธีนี้คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถ้าเรายังซื้อหนังสือใหม่เรื่อย ๆ ก็คงไม่มีวันกำจัดหนังสือที่ซื้อแล้วไม่อ่านให้หมดไปได้แน่ ๆ เพราะโดยธรรมชาติการซื้อนั้นง่ายและรวดเร็วกว่าการอ่านมากนัก ผมแนะนำให้ตั้งกฎว่าจะซื้อเล่มใหม่ได้ก็ต่อเมื่ออ่านเล่มเก่าจบ ถ้าจะซื้อเล่มใหม่ 1 เล่ม ต้องอ่านเล่มเก่าให้จบก่อน 2 เล่ม วิธีนี้จะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจได้ แต่ถ้าเจอหนังสือที่ชอบและอยากอ่านมากจริง ๆ ก็สามารถซื้อได้ โดยให้คิดว่าเราติดหนี้อยู่ พูดง่าย ๆ ว่าถ้ายังอ่านเล่มเก่าไม่จบแต่อยากอ่านเล่มใหม่มากก็ซื้อมาครับ คราวนี้ถ้าจะซื้อเล่มใหม่เพิ่มอีกต้องอ่านเล่มเก่าให้จบ 3 เล่ม (เพราะเราดันไปซื้อมาดองเพิ่มอีกเล่ม) แบบนี้เป็นต้นครับ

 

2.ไปดูที่กองหนังสือแล้วจัดการเล่มที่เราไม่ได้อยากอ่านจริง ๆ ซะ

เวลาของเรามีค่าครับ เราต้องยอมรับว่าเรื่องบางเรื่องที่เมื่อก่อนเคยสนใจมาก ๆ ตอนนี้เราอาจไม่ได้สนใจแล้ว หรือบางครั้งเราซื้อหนังสือมาตอนที่ไม่มีอะไรทำ แต่ตอนนี้กลับไม่ได้อยากอ่านต่อ ถ้าเป็นแบบที่ว่ามาผมเสนอให้ “จัดการ” หนังสือเล่มนั้นชะ

โดยธรรมชาติแล้วเรามักจะมีอาการที่เรียกว่า Sunk Cost Fallacy ครับ คือเรา “เสียดาย” เงินที่จ่ายไปแล้ว จึงวางหนังสือเหล่านี้กองไว้เฉย ๆ ทางออกคือการปรับความคิดใหม่โดยคิดว่าเงินนั้นจ่ายไปแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไรต่อก็ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขการจ่ายเงินซื้อหนังสือของเราในอดีตได้ ตังนั้นการตัดสินใจว่าจะทำอะไรในอนาคตจึงไม่จำเป็นต้องนำในอดีตมาเกี่ยวข้อง พูดง่าย ๆ ว่าจ่ายเงินไปแล้ว ไม่ว่าจะอ่านหรือไม่อ่านก็เสียเงินเท่ากัน ถ้าอ่านแล้วได้ประโยชน์หรือมีความสุขก็อ่านต่อ แต่ถ้าอ่านแล้วเสียเวลาหรือไม่ค่อยได้ประโยชน์ก็เลิกอ่าน

สำหรับคนที่เสียดายหากต้องทิ้งหนังสือดี ๆ ก็ไม่ต้องทิ้งครับให้นำไปบริจาค นำไปให้เพื่อน ๆ ที่อยากอ่าน หรือนำไปขายก็ยังได้ จะเอาเงินมาเก็บไว้หรือบริจาคก็ตามสะดวก ถ้าเสียดายมาก ๆ ประกาศให้เพื่อนยืมอ่านก็ยังดี เราจะได้รู้สึกดีว่าอย่างน้อยมันก็ยังทำประโยชน์ให้กับคนอื่น แบบนี้กองหนังสือที่เราดองไว้คงลดลงไม่มากก็น้อยผมเถอะครับว่าวิธีนี้ได้ผลจริง ๆ

 

3.เลือกหนังสือที่อยากอ่านมากที่สุดหรือเล่มบางที่สุด

ปัญหาของการดองหนังสือคือเราไม่เริ่มอ่านสักที วิธีเอาปัญหานี้คือเราต้องลดอุปสรรคให้ได้ เช่น เลือกอ่านเล่มที่ชอบมากที่สุดก่อนเมื่อทำอย่างนี้เราก็จะอยากเริ่มอ่าน แล้วเราก็อยากอ่านต่อไปจนจบ หรือถ้าไม่ได้รู้สึกชอบเล่มมาอ่านก่อนเป็นพิเศษ ผมขอแนะนำให้เลือกเล่มบางสุด ๆ ที่อ่านแล้วจบเร็ว 1 เพราะถ้าได้เริ่มอ่านและอ่านจนจบ เราจะมีกำลังใจในการอ่านต่อไปครับ

 

4.กำหนดเวลาอ่านให้ชัดเจน

คนส่วนใหญ่อยากอ่านหนังสือแต่ไม่ได้อ่านสักที เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะเราไม่เคยกำหนดเวลาไว้ให้ชัดเจน ลองนึกถึงตัวเองดูสิครับว่าต่อให้เป็นวันที่งานยุ่งหรือไม่ได้หิว แต่พอถึงเวลาพักเที่ยงเราก็จะหยุดทำงานแล้วออกไปกินข้าว เพราะมันเป็น “เวลากิน” ผมแนะนำให้ทำแบบเดียวกันครับ กำหนดเวลาไว้เลยว่านี่คือเวลาอ่านหนังสือ ทำเป็นตารางเวลาไว้ในสมาร์ตโฟนก็ได้ โดยเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง ส่วนใหญ่

ผมกำหนดไว้เป็นช่วงเช้ากับช่วงก่อนเข้านอน หรือจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Habit Stacking ก็ได้ โดยกำหนดว่าจะอ่านหนังสือหลังจากทำสิ่งที่ทำเป็นประจำ เช่น หลังจากแปรงฟันก่อนเข้านอนแล้วจะอ่านหนังสือเป็นเวลา 30 นาทีขอแค่วันละ 30 นาทีก็พอครับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเร็วในการอ่านของแต่ละคนด้วย ตัวผมเองอ่านหนังสือเฉลี่ยหน้าละ 1 นาที จึงอ่านได้ประมาณวันละ 30 หน้า ถ้าหนังสือมีจำนวน 240 หน้าทำแบบนี้ 8 วันก็อ่านจบเล่มแล้วครับ

 

5.เชื่อมโยงการอ่านหนังสือเข้ากับกิจกรรมที่เราชอบทำ

กรณีที่มีนิสัยรักการอ่านอยู่แล้วก็ข้ามข้อนี้ไปได้เลย แต่เชื่อมโยงการอ่านหนังสือทำกับกิจกรรมที่เราชอบทำยังไม่มี วิธีนี้จะช่วยสร้างแรงดึงดูดในการอ่านเป็นอย่างดี เช่น สมมติว่าเราชอบเล่นเฟซบุ๊ก ให้คิดว่าเดี๋ยวอ่านหนังสือครบ 30 นาทีก็จะได้เล่นเฟซบุ๊กแล้ว ถ้าทำแบบนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปเราจะรักการอ่านเท่ากับรักการเล่นเฟซบุ๊กเลยครับ

 

6.พยายามทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่าย

เตรียมหนังสือที่จะอ่านไว้ให้พร้อม ไม่ใช่พอจะอ่านก็ต้องเดินหาให้ยุ่งยาก ขอแนะนำให้วางไว้ในที่ที่เราอ่านเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะทำงานหรือหัวเตียง

อีกอย่างที่ช่วยได้คือ ลองตั้งเป้าหมายการอ่านที่ง่ายมากพอที่เราจะทำได้สำเร็จดู เช่น ลองคิดไว้ว่าวันนี้จะอ่านสัก 2 นาที ผมเชื่อว่าต่อให้เราเหนื่อยหรือยุ่งแค่ไหนก็คงสามารถหาเวลา 2 นาทีได้ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อได้เริ่มอ่านก็มักจะอ่านได้เกิน 2 นาทีอยู่แล้ว การบอกตัวเองว่าจะใช้เวลาแค่ 2 นาทีก่อนเป็นเทคนิคการลดแรงเสียดทานในช่วงแรก (อย่าสับสนกับที่ผมบอกให้อ่านหนังสือวันละ 30 นาทีนะครับ วิธีนี้ต่างออกไปเพราะใช้สำหรับตอนที่เราไม่อยากจะหยิบหนังสือมาอ่านพอหยิบมาแล้วการอ่านให้ได้ 30 นาทีคงไม่ยากเกินไป 

 

7.การหาเวลาเฉลี่ยในการอ่าน 

การวัดผลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราอยากอ่านหนังสือ ผมแนะนำให้หยิบหนังสือที่อยากจะอ่านขึ้นมา จากลองอ่านสัก 2 หน้าแล้วจับเวลาดูเพื่อหาเวลาเฉลี่ยในการอ่านต่อ 1 หน้า อย่างเช่นผมอ่านหน้าละ 1 นาที คราวนี้ผมก็ดูว่าหนังสือมีทั้งหมดกี่หน้า แล้วคำนวณเวลาที่ต้องใช้ในการอ่านหนังสือเล่มนี้ เช่น หนังสือมีทั้งหมด 240 หน้า ผมจะใช้เวลา 240 นาทีในการอ่าน จากนั้นก็เขียนโพสต์อิทแปะไว้ครับคราวนี้เวลาอ่านหนังสือ ก็แค่เขียนว่าหนังสือเล่มนี้เหลืออีกกี่หน้าต้องใช้เวลาอีกกี่นาที แบบนี้นอกจากจะเห็นความก้าวหน้าแล้วเรายังมีพลังในการอ่านต่อเพิ่มขึ้นด้วยครับ เรียกได้ว่าพอมีเวลาเราก็อยากหยิบหนังสือมาอ่านเพื่อจะได้อัพเดตความก้าวหน้าหรือถ้าใครอ่านอีบุ๊กผ่านคินเดิลก็ยิ่งสะดวก เพราะเครื่องจะคำนวณให้เลยว่าเหลือเวลาอีกกี่นาทีโดยที่เราไม่ต้องมานับเอง 

 

8.ระหว่างอ่านให้คิดตามว่าเราจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

วิธีนี้ก็จะช่วยทำให้เราอยากอ่านครับ ตัวอย่างเช่น เวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเขียน ผมมักคิดเสมอว่าเดี๋ยวจะเอาไปเขียนลงในบล็อก บางทีเจอเทคนิคที่ดูน่าสนใจมาก ๆ ผมถึงขั้นทดลองนำไปใช้ทันทีเลยครับ ยิ่งตอนนี้ผมจัดพอดแคสต์ เวลาอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วเห็นว่ามีข้อคิดดี ๆ ก็จะรีบจดไว้เพื่อเตรียมนำไปเล่า แบบนี้ผมว่าการอ่านจะสนุกกว่าเดิม

บางคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าอ่านแล้วคิดถึงประโยชน์ไม่ออกเลยล่ะ คือถ้าไม่มีประโยชน์ก็ต้องถามต่อว่าอ่านแล้วมีความสุขไหมถ้าคำตอบคือไม่มี น่าเบื่อมาก ก็ให้กลับไปดูข้อที่ 2 ครับ เลิกอ่านได้เลย เอาไปให้คนที่เขาอยากอ่านจะดีกว่า แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยเจอนะครับ มีหนังสือจำนวนน้อยมากที่ผมซื้อมาแล้วไม่มีประโยชน์หรืออ่านแล้วไม่ชอบ

 

9 หาคนอ่านด้วยกัน

สมัยยังเรียนอยู่ผมพบว่าเวลาไปอ่านหนังสือกับเพื่อนจะอ่านได้ดีกว่าตอนอยู่คนเดียวในแง่ของความสุขจากการอ่าน ยิ่งถ้าเรามีเพื่อน ๆ มานั่งอ่านหนังสืออ่านเล่นด้วยกัน พักคุยกันบ้างแบบนี้ก็น่าสนุก แต่ผมเข้าใจครับว่าเราอาศัยอยู่กันคนละที่การเดินทางไปเจอกันก็อาจจะเสียเวลา ผมแนะนำให้ลองทำสิ่งที่คล้าย ๆ กับ Virtual Book Cub ดูครับ โดยตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กแล้วมาอัพเดตความก้าวหน้าในการอ่านหนังสือกัน

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับ 9 วิธีที่อ่านหนังสือที่ดองไว้ให้จบเล่ม และใช้ได้จริงหวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้เหล่านี้และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันนะครับ

สามารถซื้อหนังสือได้ที่นี่

 หนังสือ : The Lost Skill

 ผู้แต่ง : นภดล ร่มโพธิ์

———————————–

อ่านบทความดีๆได้ที่ : https://www.bookintelligent.com/

ฟังบทความดีๆได้ที่ : shorturl.asia/3pGHm