10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

10 ประโยชน์จากการ “นั่งสมาธิ” ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

สำหรับในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน มีสิ่งต่างๆมากมายที่เราจะต้องทำในแต่ละวัน รวมถึงสื่อที่เราเสพหลายๆอย่างล้วนทำให้เรามีความอยากได้อยากมีเพื่อนำมาตอบสนองตัณหาของเราให้เกิดความสุข เมื่อไม่ได้สิ่งนั้นมาก็จะทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล

แต่จริงๆแล้ว การสร้างความสุขนั้นมันอยู่ที่จิตใจของเราครับ ถ้าหากใจของเรานั้น สงบ ไม่คิดถึงเรื่องอื่น จิตของเราอยู่ที่ฐานจิตสักที่หนึ่งเช่นปลายจมูก ก็จะทำให้จิตใจนั้นสงบ และมีความสุขครับ และในบทความนี้ผมจะนำแนวทาง วิธีการ “นั่งสมาธิ” มาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นแนวทางให้หลายๆคนสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเองนะครับ 

สารบัญ

ประสบการณ์ตัวเองกับการนั่งสมาธิ 

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

ก่อนที่ผมจะเข้าเรื่องประโยชน์และวิธีการนั่งสมาธินะครับ ผมขอเล่าเรื่องประสบการณ์ตนเองกับการนั่งสมาธิว่าเป็นอย่างไรบ้างก่อน 

เหตุการณ์ที่ 1 : ในสมัยที่ผมอยู่มัธยมที่จะสอบตรงเข้าวิศวะจุฬานั้น ก็เป็นเด็กปกติทั่วไปครับที่ตั้งใจทำข้อสอบเก่าย้อนหลัง 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นวิชาพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคิดว่าตัวเองนั้น น่าจะทำข้อสอบผ่านแล้วเพราะตอนฝึกทำข้อสอบย้อนหลังและจับเวลาก็สามารถทำคะแนนได้ค่อนข้างดี ผ่านเกณฑ์ที่จะสอบตรงผ่าน แต่เมื่อตอนไปสอบครั้งแรกนั้นรู้สึกว่าตื่นเต้นมากๆ ตื่นเต้นจนรู้สึกว่าหัวใจนั้นเต้นเร็วกว่าปกติมาก แล้วเมื่อได้ทำข้อสอบจริงในวันนั้นก็คิดว่าน่าจะทำถูกหมด แต่เมื่อผ่านไปคะแนนสอบออกมา ปรากฏว่าคะแนนสอบไม่ค่อยดีครับ ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองนั้นน่าจะได้คะแนนที่สามารถผ่านเกณฑ์สอบตรงติดได้เลยรอบแรกแต่เมื่อรวมคะแนนในรอบนั้นก็คิดว่าผลรวมของคะแนนน่าจะยังไม่ผ่านเกณฑ์สอบตรงเข้าคณะนี้ครับ 

จึงทำให้ผมต้องมานั่งอ่านหนังสือสอบต่อในรอบที่ 2 แต่ในรอบนี้ผมต้องบอกว่าอ่านน้อย ทำโจทย์น้อยกว่าเดิมค่อนข้างเยอะครับ แต่ผมเปลี่ยนวิธีการเตรียมตัวมาเป็น การนั่งสมาธิวันละ 5 นาที ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆประมาณ 3 เดือน เมื่อถึงวันสอบรอบที่สองนั้น ก็รู้สึกตื่นเต้นแต่ว่าไม่ได้ตื่นเต้นเท่ากับรอบแรกพร้อมกับรู้สึกว่าตัวเองนั้น มีสติในการทำข้อสอบมากกว่าเดิมอย่างมาก เมื่อวันประกาศผลสอบออกมาก็คะแนนออกมาดีมากครับ และสามารถใช้คะแนนสอบในรอบที่ 2 นี้ยื่นสอบตรงติดวิศวะจุฬานั้นเอง 

เหตุการณ์ที่ 2 : ตอนสมัยนักศึกษาปี 4 ผมได้ลงวิชาทางเลือกวิชาหนึ่งก็คือ Meditation หรือ วิชานั่งสมาธิ (ตอนนั้นที่ได้ลงไปเพราะว่าได้ยินมาจากรุ่นพี่ว่าวิชานี้สามารถได้เกรด A ค่อนข้างง่าย อาจารย์ก็ใจดีครับ เลยได้ลงทะเบียนเรียนไป) ซึ่งพอเข้ามาเรียนในรายละเอียดเนื้อหาจริงๆนั้นเพิ่งได้รับรู้ว่า การนั่งสมาธินั้นมีประโยชน์มากๆ ซึ่งครูหรือพระอาจารย์ที่มาสอนนั้นเป็นลูกศิษย์ของ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ซึ่งก็คือสถาบันพลังจิตตานุภาพ (willpower institute) นั่นเอง สำหรับคนที่สนใจที่จะเรียนสามารถศึกษาการนั่งสมาธิแบบละเอียดได้ที่ลิงค์เว็บไซต์นี้ครับ

เหตุการณ์ที่ 3  : ตอนสมัยที่ผมสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) เป็นใบสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการลงทุนและการเงิน ผมก็ได้ทำการนั่งสมาธิวันละ 5-10 นาทีซึ่งผลการสอบก็ออกมาได้คะแนนค่อนข้างดีแล้วก็ผ่านครับ

ในปัจจุบันผมก็ได้ทำงานเกี่ยวกับฝ่ายขาย ต้องดิวงานทั้งข้างนอก และข้างในบริษัทประสานงานกับคนอื่นเยอะแยะมากมาย ความเครียดความกดดันค่อนข้างเยอะมากๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของงานส่วนตัว เรื่องของครอบครัว หลายๆอย่างแต่ต้องบอกว่า ทุกวันนี้ก็ได้ทำการนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 5-10 นาที ทำให้รู้สึกว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก และสามารถลดปัญหาความเครียดความวิตกกังวลได้ดีด้วย 

ที่ผมเกริ่นถึงประสบการณ์ตัวเองก็นั่งสมาธิเพื่อที่จะได้ให้ทุกคนเห็นภาพนะครับว่าสำหรับตัวผมเองนั้นคิดว่าการนั่งสมาธิมีประโยชน์มากๆในการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างตัวผมเองที่เห็นได้ชัดก็คือในเรื่องของการเรียนนะครับ และในช่วงวัยทำงานนี้การนั่งสมาธิก็ทำให้เกิดความสุขในใจได้ ผมเชื่อว่าเพราะบางทีความสุขมันก็คือแค่ความสงบในทางจิตใจแค่นั้น และเมื่อใจเราสงบ เราก็จะมีสติสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันในทุกๆวันอีกด้วย 

หลักวิทยาศาสตร์กับการนั่งสมาธิ 

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

1.งานวิจัยในอดีต

ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson M.D.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ Trancendental Meditation (T.M.) ผลวิจัยได้ค้นพบว่า คนที่มีจิตเป็นสมาธิ ความดันจะลดลง อัตราการหายใจลดลง หัวใจเต้นช้าลง คลื่นสมองช้าและเป็นระเบียบขึ้น การเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง เขาเรียกปรากฏการณ์ที่ค้นพบนี้ว่า ผลของความผ่อนคลาย (Relaxation Responses)

2.สมาธิกับคลื่นสมอง 

โดยปกติคนทั่วไปนั้นจะมีการส่งคลื่น Beta ความออกมาที่ประมาณ 21 รอบต่อวินาที แต่ถ้าหากมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาที่ทำให้เรารู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง กลัว เกลียด อิจฉา ตื่นเต้น จะทำให้คลื่นสมองมีความถี่สูงขึ้นทันที ซึ่งจะทำให้คนคนนั้นมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง ความเครียดสูงขึ้น ความวิตกกังวลสูงขึ้น ความสามารถในการเรียนรู้ต่ำลง ภูมิคุ้มกันต่ำลง นอกจากนี้การที่เรามีสมาธิต่ำลงนั้นเมื่อมีความคิดหรืออื่นๆเข้ามาจะทำให้เราโฟกัสในสิ่งนั้นๆได้ไม่นาน ยิ่งคนไหนที่มีความถี่ของคลื่นสมองมากกว่า 40 รอบต่อวินาที จะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เวลาที่โกรธใครมากๆ ก็จะแสดงออกมาทางร่างกายเลย เช่น หน้าจะแดง มือจะสั่น เหงื่อจะออก และอาจจะทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายได้

ในทางกลับกัน หากเรามีสมาธิที่ดีจะทำให้เรามีคลื่นสมองต่ำกว่า 19 รอบต่อวินาที ส่งผลให้เรามีอารมณ์ที่เยือกเย็น ไม่เครียด อารมณ์ดี ร่าเริง เบิกบาน อายุยืน มีความคิดเฉียบแหลม มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง  และส่งผลให้มีระบบภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอีกด้วย 

จริงๆแล้วถ้าหากจะพูดในรายละเอียด คลื่นสมองจะมีอยู่ในรูปของความถี่ผสม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภทคือ คลื่นเบต้า (Beta wave), คลื่นอัลฟา (Alpha wave), คลื่นธีต้า (Theta wave), คลื่นเดลต้า (Delta wave) แต่ผมคงจะไม่ลงลึกไปถึงว่าขึ้นแต่ละคืนนั้นทำงานยังไงนะครับ แต่แค่จะบอกว่าการนั่งสมาธิจะทำให้คลื่นเหล่านี้มีความถี่ที่น้อยลง ยกตัวอย่างนะครับรูปร่างกราฟของความถี่นั้น เส้นจะขยุกขยิก ขึ้น-ลง ขึ้น-ลง สลับกัน คล้าย ๆ เวลาเราลากเส้นสลับฟังปลานั่นเอง ถ้าสมองเรามีเรื่องให้คิดและวุ่นวายมาก เส้นกราฟก็จะขยุก ขยิกมากขึ้นด้วย แต่ถ้าเราฝึกสมาธิ จะทำให้เส้นกราฟนั้นขยุกขยิกน้อยลงและเรียบ Smooth มากขึ้นนะครับ 

3.สมาธิกับระบบการหายใจ 

ผลวิจัยค้นพบว่า ใช้ออกซิเจนในการหายใจลดลงมา 33-40 เปอร์เซ็นต์, อัตราชีพจรลดลงจากปกติ 84 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 60-70 ครั้งต่อนาที, การหายใจเกิดคงที่ในระหว่างนั่งสมาธิ, คลื่นสมองนั้นค่อนข้างเรียบ 

4.สมาธิกับการเผาผลาญในร่างกาย 

ผลวิจัยค้นพบว่า การใช้ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยกว่าในเวลาปกติเฉลี่ยได้ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออัตราการเผาผลาญในร่างกายลดลง ร่างกายก็จะเสื่อมน้อยลง  เมื่อร่างกายเสื่อมน้อยลง หน้าตาก็จะอ่อนกว่าวัย อายุยืนยาว และถ้าคิดง่ายๆ ถ้าอัตราการเต้นของหัวใจนั้นลดลง นาทีละ 3 ครั้ง หมายความว่าหัวใจก็จะแข็งแรง ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนแต่ก่อน 

5.สมาธิกับการเรียน 

ผลวิจัยค้นพบว่า นักศึกษาที่ได้ฝึกสมาธิ มีความตั้งใจเรียนมากขึ้น 62 เปอร์เซ็นต์, รักการเรียนมากขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์, ความจำดีขึ้น โฟกัสกับงานที่ทำได้มากขึ้นและทำงานได้คล่องแคล่วมากขึ้น, การบันทึกคลื่นสมองค้นพบว่าในระหว่างการทำสมาธิคลื่นสมองมีความราบเรียบมากกว่าคนปกติ

6.สมาธิกับความดันโลหิตสูง 

ผลวิจัยค้นพบว่า คนที่มีความดันโลหิตสูง สามารถลดความดันเลือดได้ลงมาถึงร้อยละ 7 ลดอัตราการเป็นโรคหัวใจได้ร้อยละ 20 ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ลดอาการหัวใจวายได้ถึงร้อยละ 34 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

7.สมาธิกับความสัมพันธ์การรักษาโรค

ผลวิจัยค้นพบว่า การทำสมาธิมีความสัมพันธ์กับสมองด้านซ้าย ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นด้วย (สมองด้านซ้ายจะมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต่อต้านความคิดที่เป็นลบหรือความเครียด)

8.สมาธิมีผลกับสมอง

ผลวิจัยค้นพบว่า คนที่นั่งสมาธิเป็นประจำ สมองจะเปลี่ยนความคิดจากที่ว่าจะสู้ดีหรือไม่สู้ดีมาเป็นยอมรับสถานการณ์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองมีความพึงพอใจมากขึ้นส่งผลให้มีความสุขมากขึ้น

นี่เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัยทั้งตะวันตกและตะวันออกได้ทำการสรุปออกมานะครับว่าสมาธินั้นมีผลอย่างไรกับตัวเรา 

ประโยชน์จากการฝึกนั่งสมาธิ

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

คราวนี้ผมจะมาสรุปประโยชน์ทั้งหมดของการนั่งสมาธิให้นะครับ 

  • ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า
  • เพิ่มความสุขได้ด้วยตัวเอง 
  • ผลการเรียนดีขึ้น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ 
  • สามารถโฟกัสกับสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น แล้วอยู่กับปัจจุบัน
  • หน้าตาอ่อนกว่าวัย อายุยืนยาว
  • ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น
  • บรรเทาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • สามารถทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น 
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน
  • ลดความคิดในแง่ลบ

จริงๆมีประโยชน์ดีค่อนข้างเยอะนะครับเขียนไม่หมดแต่ว่าโดยหลักๆที่ผมคิดว่า น่าจะทำให้เป็นแรงจูงใจให้เราอยากนั่งสมาธิในทุกๆวันก็คืออยู่ประมาณนี้นะครับ

ประเภทของการทำสมาธิ 

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

จริงๆต้องบอกว่าการทำสมาธินั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะฝึกการทำสมาธิแบบไหนแต่ให้ฝึกแบบต่อเนื่องในระยะยาวนะครับ ยกตัวอย่างได้แก่

1.การฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)

เป็นวิธีการทำสมาธิให้ที่ทำให้เกิดสติ หรือมีความรู้สึกตัวและอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งวิธีการฝึกนั้นก็คือ ให้สังเกตและจดจ่อที่อยู่กับอาการทางร่างกาย เช่นเราอาจจะมีฐานจิตอยู่ที่ปลายจมูก กำหนดลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ให้มีสติอยู่กับลมหายใจที่ปลายจมูกเท่านั้น (วิธีนี้คือวิธีที่ทางพุทธศาสนาสอนเราครับ และตัวผมเองก็ทำวิธีนี้แบบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานแล้ว) 

2.การฝึกสมาธิแบบ (Transcendental Meditation : TM)

เป็นการฝึกสมาธิโดยการท่องคำหรือวลี ที่ได้รับจากผู้สอน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายสามารถปรับโหมดเข้าสู่การพักผ่อนอย่างเต็มที่ ช่วยให้ใจสงบ โดยไม่ต้องใช้ความเข้มข้นหรือความพยายามในการฝึกมาก 

3.มันตราสมาธิบำบัดหรือสวดมนต์ (Mantra Meditation)

เป็นวิธีที่ทำให้ผู้ปฏิบัติท่องบทสวดมนต์ วลีซ้ำๆ เปรียบเสมือนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านหรือกวนใจ แล้วทำให้เกิดสมาธิ 

4.วิธีการทำสมาธิด้วยมโนภาพ (Guided Meditation) หรือการสร้างมโนภาพ (Visualization)

เป็นวิธีที่ทำให้ผู้ฝึกสมาธินั้นนึกภาพถึงสถานการณ์ที่สงบและผ่อนคลาย โดยอาจใช้สิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น กลิ่น ภาพ การสัมผัสและเสียงประกอบ และอาจจะมีครูที่ชำนาญการสอนเป็นคนนำการปฏิบัติ

5.โยคะ (Yoga)

เป็นการฝึกท่าทางพร้อมการฝึกการหายใจ ช่วยให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่น ผ่อนคลายและแข็งแรง และยังทำให้ใจสงบและมีสมาธิด้วย

6.ไทชิ (Tai chi)

ศิลปะการต่อสู้ของจีนหรือที่เราเรียกว่าไทเก๊ก เป็นการฝึกฝนเคยทวงท่าที่มีการเคลื่อนไหวแบบช้าๆ นุ่มนวล และสง่างามพร้อมกับมีการฝึกลมหายใจ

7.ชี่กง (Qi gong)

คือ วิธีการฝึกฝนของชาวจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นการฝึกฝนการผสมระหว่าง การทำสมาธิและการผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการหายใจประกอบกัน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อรักษาและฟื้นฟูให้จิตใจและร่างกายมีความสมดุล

หลักการของการทำสมาธิ

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

หลังจากที่เราได้เรียนรู้แล้วนะครับว่าประเภทของสมาธินั้นมีหลายอย่างมากมาย โดยสิ่งที่ผมจะยกตัวอย่างก็คือการฝึกสติหรือการเจริญสติ (Mindfulness Meditation) ซึ่งเป็นวิธีที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติกันนะครับ 

#ขั้นตอนที่ 1 : ให้เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์ เพื่อนครอบครัว อาจจะนั่งบนเก้าอี้หรือบนพื้นก็ได้นะครับ

#ขั้นตอนที่ 2 : ใช้วิธีการฝึกเจริญสติโดย ถ้านั่งบนเก้าอี้ก็เอามือขวาทับมือซ้ายประสานกันที่ตัก แต่ถ้านั่งบนพื้นก็เอาขาขวาขาซ้ายแล้วเอามือขวาทับมือตายภาษาหน้าที่ต่างๆเช่นกัน 

#ขั้นตอนที่ 3 : หลับตาลง ให้เลือกฐานจิตไว้ที่ใดที่หนึ่งอาจจะเป็นหน้าผาก ปลายจมูก หน้าอก หรือท้องน้อยก็ได้ (สำหรับตัวผมจะใช้ฐานจิตที่ปลายจมูกนะครับ)

#ขั้นตอนที่ 4 : จากนั้นเมื่อหลับตาลงให้มีสติอยู่ที่ฐานจิต กำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อหายใจเข้าให้ท่องในใจว่าพุท เมื่อหายใจออกท่องในใจว่าโท (พุท-โธ) หายใจเข้าช้าๆ หายใจออกช้าๆ มีสติอยู่กับฐานจิต โฟกัสอยู่กับฐานจิต เมื่อจิตใจวอกแวกนึกไปถึงสิ่งอื่น ก็พยายามตั้งสติแล้วนำความคิดนั้นมาโฟกัสที่ฐานจิตเหมือนเดิม 

สำหรับมือใหม่ให้พยายามฝึกสมาธิวันละประมาณ 5-10 นาทีนะครับ อาจจะเป็นตอนตื่นนอนหรือตอนเข้านอนก็ได้เพราะจะได้เป็นช่วงเวลาประจำที่เราทำได้ทุกๆวัน 

แชร์ผลลัพธ์จากการนั่งสมาธิโดยใช้นาฬิกาออกกำลังกายจับชีพจร 

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

สำหรับตัวผมเองนั้นจะพยายามนั่งสมาธิก่อนนอนทุกๆวัน วันละ 10 นาที ผมนำผลลัพธ์จากการนั่งสมาธิมาให้ดู ผมใช้ตัวจับเวลาคือนาฬิกา Garmin Forerunner 935 โดยได้ทำการโหลด App Meditating มาลงเพิ่มเติมในนาฬิกา (จริงๆไม่ต้องใช้นาฬิกามาจับผลลัพธ์ก็ได้นะครับ อันนี้พอดีเอาตัวอย่างมาให้ดูเฉยๆเพราะนาฬิกาสามารถจับระดับการเต้นของหัวใจได้ครับ)

10 ประโยชน์จากการนั่งสมาธิ ชีวิตดีขึ้นทันตา [หลักวิทยาศาสตร์+แนวทางปฎิบัติง่ายๆ]

และนี่เป็นกราฟผลลัพธ์ในช่วงเวลา 10 นาทีโดยการตั้งเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ แกนนอนเป็นเวลานะครับ 

  • สภาพจิตใจของวันนี้ของตัวผมเองต้องบอกว่ามีปัญหากับเรื่องงานขายนิดหน่อย (เครียด) จึงทำให้ระดับการเต้นหัวใจสูงกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติผมจะมีระดับการเต้นหัวใจค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 70 ปลาย (77-80 bpm) แต่วันนี้ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 80 bpm นะครับ 
  • ใน 4 นาทีช่วงแรก จะเห็นว่าอัตราการเต้นหัวใจของผมค่อนข้างสูงนะครับ ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงแรกนั้นมีเรื่องให้คิดเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานเรื่องส่วนตัว พยายามควบคุมจิตใจให้มาอยู่ที่ฐานจิตคือปลายจมูก กำหนดลมหายใจเข้า-พุธ ออก-โธ 
  • เมื่อผ่านนาทีที่ 4 ไปจะเห็นว่าอัตราการเต้นของหัวใจเริ่มน้อย เพราะสมองเริ่มไม่คิดถึงเรื่องอื่นแล้ว เริ่มมาโฟกัสที่ฐานจิตได้แล้ว ส่วนตัวเริ่มผ่อนคลายในช่วงนี้ครับ
  • ในนาทีที่ 8 กว่า อาจจะมีระดับการเต้นของหัวใจสูงขึ้นเพราะในช่วงนั้นผมจิตใจวอกแวกนิดหน่อยครับ (ตอนนั้นไปคิดว่าเมื่อไหร่จะครบ 10 นาที จะไปทำอย่างอื่น) แต่ก็พยายามควบคุมจิตกลับมาที่ฐานจิตเหมือนเดิม
  • เมื่อนั่งสมาธิเสร็จ ความรู้สึกตอนนั้นคือรู้สึกผ่อนคลายมากครับ ความกังวลเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานน้อยลงไปเยอะและทำให้สามารถเข้านอนหลับสบาย และหลับได้เร็วขึ้น 

นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนนะครับที่นำมาแชร์ จริงๆแล้วยังมีอีกหลายฟังก์ชันของนาฬิกาที่สามารถทำได้เดี๋ยวไว้วันหลังมาแชร์นะครับ

เพื่อนๆพอใจเห็นภาพแล้วนะครับนะว่าการนั่งสมาธิ นั้นมีประโยชน์ขนาดไหน หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้และสามารถนำวิธีการนั่งสมาธิมาประยุกต์ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้นะครับ

แนะนำบทความอื่นที่น่าสนใจ

10 เคล็ดลับง่ายๆในการบริหารให้เวลาให้ชีวิตดีขึ้น

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *