ผลการเรียน vs ผลการรวย เรียนไม่เก่งแล้วจะรวยไหม

ผลการเรียน vs ผลการรวย เรียนไม่เก่งแล้วจะรวยไหม?

น้องคนหนึ่งหลังไมค์มาคุยกัน เธอถามผมว่า “หนูเรียนไม่เก่งจะประสบความสำเร็จทางการเงินได้หรือเปล่า”

คำตอบง่าย ๆ แบบไม่ต้องคิดเลยก็คือ “ได้ครับ” ทั้งนี้เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้คุยได้เจอผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะการศึกษาสูงระดับปริญญาเอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเรียนไม่จบอะไรเลย ก็เห็นว่ามีชีวิตการเงินที่ดีได้เหมือนกัน มีตัวอย่างการประสบความสำเร็จทางการเงินแบบมีตัวเป็น ๆ มาโชว์เป็นตัวอย่างกันได้ทุกรูปแบบ

จุดร่วมสำคัญที่คนประสบความสำเร็จทางการเงินมี ไม่ใช่ระดับการศึกษา แต่เป็นคุณลักษณะสำคัญที่มีอยู่ในตัวพวกเขาเหล่านี้ต่างหาก คุณลักษณะที่ว่านี้มีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

1.ความรับผิดชอบทางการเงิน (Money Responsibility)

ความรับผิดชอบทางการเงินหมายถึง ความรับผิดชอบต่อทุกปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา รวมไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการ ภายใต้ความคิดและความเชื่อสำคัญที่ว่า เราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเงินและจัดการกับทุกปัญหาทางการเงิน ทำชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง (ไม่เสียเวลาคิดแต่จะพึ่งพาคนอื่น)

วิธีการสังเกตง่าย ๆ ว่าเรามีความรับผิดชอบทางการเงินหรือเปล่า ก็ให้ลองดูว่า เวลาประสบปัญหาทางการเงินเราเสียเวลาไปโทษสิ่งต่าง ๆ รอบตัวหรือเปล่า อย่างเช่น รัฐบาลไม่ช่วย เจ้านายให้ค่าแรงน้อย ธนาคารคิดดอกเบี้ยแพง มีลูกเยอะ ภาระเยอะ คู่ชีวิตคิดต่าง ไม่มีใครในครอบครัวช่วยเราเลยเพื่อนโกง เพื่อนเอาเปรียบ ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเหล่านี้ มันก็ง่ายที่เราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำถ้าเรายอมรับว่าปัญหาการเงินทั้งหลายเกิดขึ้นจากอะไร รอทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงให้มันเข้าที่เข้าทางเอง(อาจต้องรอนานหน่อย) ซึ่งแตกต่างจากคนที่มองว่า ทุกปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นกับชีวิต ตัวเขาเองคือคนต้องรับผิดซ่อบ และต้องจัดการทุกอย่างให้ลุล่วงด้วยตัวเอง

ในบรรดาคุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จทางการเงิน “ความรับผิดชอบ” คือคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าคนที่กำลังเจอปัญหา แล้วไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาของเขาเองก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้อย่างแน่นอน

2.ความรู้ทางการเงิน (Money Literacy)

ความรู้ทางการเงินประกอบด้วยสาระความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ (Earning) การบริหารการใช้จ่าย (Spending) การจัดสรรเงินออม (Saving) และการลงทุน (Investing)

เป็นความรู้ที่เริ่มต้นเรียนกันใหม่ได้ทุกคน ไม่มีจำกัดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในการเรียนรู้ แม้เนื้อหาเรื่องเงินจะเกี่ยวข้องกับตัวเลข แต่ก็ไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงในการเรียนรู้ อาศัย การแค่บวก ลบ คูณ หาร หรืออย่างน้อยพอกดเครื่องคิดเลขเป็นก็สามารถเรียนรู้กันได้แล้ว

การลงทะเบียนเรียนก็ไม่ยาก ไม่มีลำดับวิชาชัดเจนเริ่มกันง่ายๆ ว่า “คุณมีปัญหาการเงินเรื่องใด” ก็เริ่มต้นเรียนรู้จากเรื่องนั้นได้เลย เช่น ถ้ามีปัญหาเงินทองไม่พอใช้ มีหนี้เยอะก็เริ่มเรียนจากวิชาแก้หนี้ปรับสภาพคล่อง (อาจศึกษาจากหนัเสือ เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพการเงิน ของโค้ซหนุ่มก็ได้นะ)

ศึกษาแล้วก็ลงมือทำไปด้วย พอหนี้หมด สภาพคล่องกลับมาเป็นบวก ก็ถือว่าสำเร็จวิชาแก้หนี้ปรับสภาพคล่อง ใครเสียภาษีเยอะ อยากเสียให้น้อยลงแบบถูกกฎหมาย ให้ศึกษาวิชาประหยัดภาษี เรียนรู้ช่องทางลดหย่อนต่าง ๆ ที่เหมาะกับตัวเอง ฝึกคิดคำนวณภาษี ทำให้ตัวประหยัดภาษีได้จริง แบบนี้ก็จะถือว่าสำเร็จวิชาประหยัดการลงทุนก็เช่นกัน คนไม่เคยลงทุน ก็ลองเลือกทรัพย์สิน สักหนึ่งประเภทที่เราสนใจมาหาความรู้ดู ก็จะมีวิชาให้เลือกเรียนอีกเยอะเลย วิชาลงทุนหุ้น วิชาลงทุนกองทุนรวม วิชาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ฯลฯ

สนใจอะไรก็ให้เริ่มศึกษาและเริ่มต้นลงทุนดู แม้จะผิดพลาดบ้าง ขาดทุนบ้าง ก็ให้ตั้งใจอุตสาหะ เรียนรู้ต่อเนื่องจนลงทุนเก่งขึ้น การลงทุนเริ่มสร้างกำไรให้ แบบนี้ก็ถือว่าสำเร็จวิชาการลงทุน

3.วินัยทางการเงิน (Money Discipline)

เมื่อมีความรับผิดชอบและมีความรู้ทางการเงินมากพอที่จะจัดการปัญหาและวางแผนการเงินให้กับตัวเองได้แล้วสุดท้ายก็เหลือแค่ว่าเราจะมี “วินัย” ทำตามแผนการตัวเองอย่างเคร่งครัดหรือเปล่าเท่านั้นเอง

คนเราไม่มีใครไม่รู้หรอกว่า การออกกำลังกายเป็นประจำแล้วจะมีสุขภาพดี ทุกคนรู้กันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่มีวินัยออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ

การเงินก็เช่นกัน คิดดี รู้เยอะ ศึกษาแยะ (มีความรู้ทางการเงิน) แต่ไม่ทำ หรือทำแบบจับๆ ปล่อยๆ (ขาควินัย) แบบนี้ก็ไม่เกิดผลเชิงบวกสักที (ไปไม่ถึงสุขภาพการเงินที่ดีหรือความสำเร็จทางการเงิน) ดังนั้น จึงต้องมีวินัยมากำกับอย่างต่อเนื่องด้วย ถึงจะครบองค์ประกอบและประสบความสำเร็จ

จะเห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับผลการเรียนในอดีต เรียนจบดีก็มีโอกาสทางการเงินแบบหนึ่ง โชคไม่ดีไม่มีโอกาสได้เรียน ต้องรีบออกมาทำงานช่วยครอบครัวก็มีโอกาสทางการเงินอีกแบบหนึ่งไม่ว่าจะแบบไหน ก็มีโอกาสสร้างตัว สร้างความสำเร็จทางการเงินได้ทั้งสิ้น

ผมเองก็เป็นคนเรียนไม่เก่ง จบมหาวิทยาลัยออกมาแบบเฉียดตาย ใช้เวลาตั้ง 6 ปีกว่าจะได้ปริญญา เพื่อนสนิทในกลุ่มผมแทบทุกคนเป็นบัณฑิตเกียรตินิยม ส่วนผมตอนจบได้ “ปาฏิหาริย์บัณฑิต” (คือเรียนอย่างมึงไม่น่าจบ)

แต่นั่นก็ไม่เคยทำให้ “ความเชื่อมั่น” ในตัวผมจางหายไปไม่ว่าจะเรียนได้เกรดเท่าไหร่ ผมยังเชื่อมั่นเสมอว่า “กูแม่งเก่งไม่แพ้ใคร และวันหนึ่งกูจะประสบความสำเร็จในแบบของกู…” (อาจดูไร้สติไปบ้าง แต่มั่นใจอย่างนั้นจริง ๆ)

เรียนจบช้ากว่าเพื่อน 2 ปี ก็ต้องขยัน ก็ต้องไล่กวดหน่อย ไม่ได้เป็นคนเก่งในสายอาชีพเหมือนเพื่อน ๆ ชนสู้กับตรงๆ ไม่ไหว เราก็เลือกทางที่เหมาะกับเรา ทางสะดวกที่ไปได้ไวไปได้เร็วสำหรับเรา ท้ายที่สุดไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ความสำเร็จหนึ่งที่ทุกคนต้องมีก็คือ “ความสำเร็จทางการเงิน” ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียน

จบอะไร ทำอาชีพอะไร ก็สามารถเริ่มต้นสะสมความสำเร็จทางการเงินระหว่างทางได้ ด้วยการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการในแบบที่เล่ามาอยากให้กำลังใจน้องที่ได้คุยกันนะครับ จำเอาไว้ว่า “ผลการเรียนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลการรวย” เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้… เราทุกคนเกิดมาเพื่อประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่มีความสุขครับ

ที่มา : Money Mindset

ผู้แต่ง : จักรพงษ์ เมษพันธุ์

สั่งหนังสือได้ที่ลิงค์นี้


แนะนำบทความที่น่าสนใจ