[แชร์เทคนิค+How to] เริ่มต้นทำงาน ออมเก็บเงินอย่างไรให้ได้ 100,000 บาท ไวๆ

[แชร์เทคนิค+How to] เริ่มต้นทำงานออมเก็บเงินอย่างไรให้ได้100,000บาท ไวๆ

สำหรับน้องๆหลายๆคนที่กำลังเริ่มต้นเรียนจบและกำลังเริ่มต้นทำงานแรกในชีวิต แล้วก็อยากมีความฝันที่จะมีเงินเก็บสักก้อนเพื่อไว้สำหรับตั้งตัวไว้ทำตามความฝัน การเก็บเงินแสนแรกนั้นอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับใครหลายๆคนและก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆคนเหมือนกัน ในบทความนี้จะมา แชร์เทคนิค How to วิธีการ เก็บเงิน 100000 บาท แรกไวๆนะครับ

1.กำหนดเป้าหมายใหญ่แล้วแบ่งออกเป็นเป้าหมายย่อยๆ แบบขั้นบันได 

การตั้งเป้าหมายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนทุกๆคนที่ต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิต เปรียบเสมือนพิมพ์เขียว เหมือนแผนที่นำทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

เป้าหมายใหญ่ของเราในที่นี้ก็คือ “ออมเก็บเงินให้ได้ 100,000 บาท” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆคน ดูเป็นอะไรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้และเกิดความท้อแท้ใจล้มเลิกไปกลางทาง แต่ถ้าหากเราลองเปลี่ยนเป็น “ฉันจะเก็บเงินทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ 100,000 บาทแรกใน 5 ปี และในปีแรกฉันจะเก็บเงินให้ได้ 10,000 บาท”

การที่เราตั้งเป้าหมายใหญ่และได้แบ่งออกมาเป็นเป้าหมายย่อย คือเก็บเงินให้ได้ 10,000 บาทปีแรก ซึ่งก็หมายความว่าเก็บเงินให้ได้ตกเดือนละ 1,000 บาทนั่นเอง ซึ่งดูเป็นไปได้มาก และเมื่อเราได้ลองทำดูและผลปรากฏว่าทำได้มันก็จะสร้างกำลังใจให้เราสามารถเก็บเงินได้อย่างต่อเนื่องไม่ล้มเลิกกลางทาง

ที่สำคัญเป้าหมายนี้ต้องเป็นเป้าหมายของตัวเราเองนะครับ อย่าไปตั้งเป้าหมายตามคนอื่น เพราะแต่ละคนพื้นฐานในชีวิตนั้นไม่เหมือนกันครับ ขอให้เป็นเป้าหมายที่เราสามารถทำได้แล้วทำได้อย่างต่อเนื่อง อาจมีการเขย่งเป้านิดหน่อยเพื่อให้รู้สึกสนุก ท้าทายกับความสามารถของเรา สุดท้ายแล้วเราก็จะไปถึงเส้นชัยได้เหมือนกันครับ

 

2.ทำงบการเงินส่วนบุคคลในแต่ละเดือน

เมื่อเราได้ทำเป้าหมายย่อยออกมาแล้ว จากนั้นให้เราลองทำงบการเงินในแต่ละเดือนแบบคร่าวๆ เพื่อทำการประมาณการรายรับ เงินออม รายจ่าย ในแต่ละเดือน ดังตัวอย่างเช่น

[แชร์เทคนิค+How to] เริ่มต้นทำงาน ออมเก็บเงินอย่างไรให้ได้ 100,000 บาท ไวๆ

หลักการทำงบการเงินส่วนบุคคล นั้นคือจะมีทั้งหมด 3 ส่วนง่ายๆดังนี้

  • รายรับ คือ รายได้ที่เราสามารถหาได้ในเดือนนั้นถ้ามีงานเสริมนอกจากงานประจำก็ให้มาใส่ไว้ในรายการนี้ด้วย
  • เงินออม คือ เงินที่เราสามารถหักเก็บได้ในแต่ละเดือนสามารถปรับปลี่ยนได้อาจนำไปลงทุนเพิ่มเติมก็ได้
  • รายจ่าย จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ประเภท คือรายจ่ายคงที่ เป็นสิ่งที่เราต้องผ่อนจ่ายหรือต้องให้ทุกเดือนเช่นผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ, เงินเลี้ยงดูครอบครัว อีกส่วนหนึ่งคือรายจ่ายผันแปรสามารถเปลี่ยนได้ในแต่ละเดือนนั้น เช่นค่าอาหารค่า, ค่าสาธารณูปโภค, เดินทาง

วิธีการทำงบการเงินเหล่านี้ให้ทำเป็นประจำทุกๆปีเพราะเหมือนเป็นการวางแผน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนนี้แต่ใกล้เคียงก็ใช้ได้ หลังจากนั้นก็มาทำการอัพเดทผลลัพธ์ เพราะเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพทางการเงินของเราในแต่ละเดือนว่าเราใช้เงินไปกับส่วนใดเป็นพิเศษ ทำให้เห็นภาพรวมรอยรั่วของการใช้เงิน

 

3.หักเงินออมก่อนใช้จ่ายเสมอ 

หลายๆคนมักเอาเงินผิดวิธีคือเมื่อได้รับเงินเดือนมาก็นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน เมื่อถึงสิ้นเดือนถ้ามีเหลือเก็บถึงจะเอามาออม แต่มนุษย์เป็นสิ่งพิเศษครับ แม้จะมีรายได้มากเท่าไหร่ก็มีความสามารถที่จะใช้ให้หมดได้ แล้วสุดท้ายก็จะไม่เหลือเงินมาให้ออมครับ

วิธีการง่ายๆคือให้ทานกลับกันเมื่อมีเงินเดือนเข้ามา ให้หักเก็บเข้าบัญชีธนาคารเงินออมเลยเดือนละ 1,000 2,000 3,000 แล้วแต่ความพึงพอใจกับและสอดคล้องกับแผนที่เราได้ตั้งไว้ในการเก็บออมเงินให้ได้ 100,000 บาท และให้ตั้งไว้ว่าเงินออมในส่วนนี้เราจะไม่ถอนเงินออกมาใช้จ่ายไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จนกว่าจะถึงเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้

สังเกตในข้อที่ 2 นะครับ วิธีการทำงบการเงินส่วนบุคคลที่ผมได้สรุปไว้ก็ได้ให้ส่วนของเงินออมเป็น part ที่ต่อจากรายได้เลยเพราะต้องการให้มาคิดก่อนว่าเราจะเก็บเงินออมเดือนละเท่าไหร่ดีถึงจะนำไปใช้จ่าย

 

4.หารายได้เสริม 

ในสมัยนี้ต้องบอกว่าหารายได้เสริมได้ง่ายมากกว่าในสมัยก่อนมากๆครับ เพราะมีเรื่องของออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถขายของผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ เรียนรู้ความสามารถใหม่ๆผ่านช่องทางออนไลน์แล้วไปสามารถสร้างรายได้ก็ได้ สามารถทำอาหารนำไปขายเพื่อนๆหรือเปิดเพจขายของทำส่งออนไลน์ก็ได้ ลองใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์ในการทำงานพิเศษรายได้เสริมตรงนี้เพราะนอกจากที่จะได้ความรู้ประสบการณ์และยังสามารถได้รายได้เสริมมาช่วยในการออมให้ถึงเป้าหมาย 100,000 บาทอีกด้วย

ผมเคยมีเขียนบทความเกี่ยวกับการสร้าง Passive Income สามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงค์นี้นะครับ

 

5.ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ลองมาปรับวิธีคิดกันนะครับ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นกับตัวเราดูนะครับ ลองมาคิดพิจารณาว่าสิ่งที่เราซื้อ หรือที่ต้องใช้จ่ายนั้นมันจำเป็นกับตัวเราจริงๆไหม ยกตัวอย่างเช่นการซื้อมือถือเครื่องใหม่หากเครื่องเก่ายังพอใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน, การออกไปสังสรรค์ถ้าหากสามารถลดลงได้จากอาทิตย์ละ 3 วันเหลือ 2 วันหรือวันเดียว, การซื้อหวยลองลดบางส่วนลงมาเพื่อเป็นเงินเก็บน่าจะทำให้สามารถเก็บเงินได้มากกว่า

ถ้าหากจำเป็นต้องซื้อรถก็ลองดูว่าลองซื้อรถมือสองที่คุณภาพและสภาพเหมาะ งานได้หรือไม่ การซื้อรถมือหนึ่งจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่และใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง อาจลองเปลี่ยนเป็นซื้อมือสองในสภาพที่พอใช้งานได้มาใช้ก่อน เพราะจะทำให้เราสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งก็คือ รถยนต์เมื่อครอบครองแล้วก็มูลค่าก็จะลดไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกเช่น ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าพรบ ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ฯลฯ ถ้าหากคุณซื้อรถมือสองในตอนแรกแล้วไปซื้อรถมือหนึ่งในตอนอายุ 35-40 ปี คุณจะสามารถดาวน์ได้สูงขึ้น มีความสามารถในการผ่อนชำระมากขึ้น และประหยัดดอกเบี้ยได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้เรายังสามารถดูงบการเงินส่วนบุคคลแล้วดูรายละเอียดในแต่ละค่าใช้จ่ายลองดูว่าสิ่งไหนที่จำเป็นหรือสิ่งไหนไม่จำเป็น สามารถลดรายจ่ายนั้นๆได้ไหม (ประโยชน์ของการทำงบการเงินส่วนบุคคลมีเยอะมากๆครับ)

 

6.ลองลงทุนในสินทรัพย์ผลตอบแทนที่ดี

การเก็บเงินออมไว้ในธนาคารนั้นดีครับแต่ว่า ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ได้นั้นค่อนข้างน้อย จะทำให้เราต้องใช้เวลาในการเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท คุณจะต้องใช้เวลาเก็บถึงประมาณ 8 ปีถึงจะได้ครบ 100,000 บาท ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเป้าหมายจริงๆของเรานั้นตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเก็บ 100,000 บาทภายใน 5 ปีเท่านั้น

หากคุณนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนสม่ำเสมอเดือนละ 1,000 บาท เช่นฝากประจำ ผลตอบแทนก็จะได้ 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็จะใช้เวลาลดลงเพราะมีผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น

และถ้าหากคุณศึกษาการลงทุนออมเงินในกองทุนหรือหุ้นที่มีผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น เช่นได้ผลตอบแทน 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็จะทำให้คุณใช้เวลาเก็บเงินลดลงมาเหลือ 7 ปี เท่าที่อ่านมาอาจจะรู้สึกว่ายังไม่ได้ลดเวลาได้เยอะมากใช่ไหมครับแต่ว่าก็ดีกว่าที่จะไม่ได้เพิ่มผลตอบแทนในส่วนตรงนี้ประหยัดเวลามาถึง 1 ปีเลยทีเดียว

การออมเหล่านี้เป็นวิธี การเพิ่มดอกเบี้ยแบบ “Compounding Effect” หรือดอกเบี้ยทบต้นซึ่งเป็นการนำผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเข้ามาใส่ต่อ พร้อมกับเงินออม

ทั้งนี้ การลงทุนทุกอย่างต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจนเข้าใจและคุณต้องสามารถยอมรับระดับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เท่านั้น และจำไว้ว่า “เราไม่ควรสูญเสียเงินต้นระหว่างทาง”

 

7.ลองเพิ่มจำนวนเงินออม 

เมื่อคุณทำงบการเงินส่วนบุคคล หารายได้เสริม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว คุณจะพบคุณจะมีเงินเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเมื่อคุณทำงานไปสักปีสองปีรายได้คุณจะเพิ่มขึ้นเพราะมีประสบการณ์ ความสามารถมากขึ้น ก็ให้ลองนำเงินที่เพิ่มขึ้นมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น หากปกติเราออมอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาทก็ลองเพิ่มเป็น 1,650 บาท โดยผลตอบแทนที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คนก็จะใช้เวลาลดลงจาก 8 ปี เหลือ 5 ปีนั้นเอง นอกจากนี้ถ้าคุณเพิ่มเงินมากกว่านี้ก็จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น

อย่าลืมนะครับ ให้ตั้งกฎเหล็กก็คือเมื่อออมเงินส่วนนี้และได้รับผลตอบแทนมาห้ามถอนเงินและผลตอบแทนส่วนนี้ออกไปใช้จ่ายอย่างเด็ดขาดไม่ว่าอย่างไรก็ตาม

 

8.ใช้กิมมิคเล็กๆน้อยๆที่จูงใจให้เราสามารถเก็บเงินได้ง่ายขึ้น

เราอาจใช้วิธีการเล็กๆน้อยเป็นคอนเซ็ปของการเก็บเงิน เช่น

  • หยอดแบงค์ 20 ใส่กระปุกหมูน่ารักๆทุกวัน (1 เดือนก็ได้ 600 บาทแล้ว)
  • เก็บแบงค์ 50 บาท เมื่อเจอแบงค์เหล่านี้ (ค่อนข้างได้ผลนะครับ เจอกี่ใบเก็บให้หมด)
  • หยอดเหรียญใส่กระปุก 3 กระปุกกระปุกเหรียญบาท กระปุกเหรียญ 5 บาท กระปุกเหรียญ 10 บาท เป็นต้น

การเก็บเล็กๆน้อยๆนี้พอผ่านไปจบสิ้นเดือนออกมาก็ได้เงินหลายบาทเหมือนกันนะครับ

 

9.ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง

ต้องบอกว่าเทคนิคที่กล่าวไปทั้งหมด นั่นคือวิธีการเก็บออมเงินแต่ตัวเราเองก็เป็นมนุษย์ครับ แน่นอนก็อยากจะมีการใช้จ่ายสร้างความสุขให้กับตัวเองบ้างดังนั้นทุกครั้งที่เวลาเงินเดือนออกก็ให้แบ่งส่วนหนึ่งมาฉลองให้กับตัวเองเช่นแบ่งงบไปกินข้าวทานหมูกระทะหรือทำสิ่งที่ตัวเองชอบในงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อเป็นการให้รางวัลกับตัวเองแล้วเราจะสามารถ Balance การทำงานหาเงินเก็บออมและใช้ชีวิตไปด้วยทำให้เราสามารถมีความสุขได้ในระยะยาว พร้อมกับบรรลุเป้าหมายเก็บออมเงินให้ได้ 100,000 บาทอีกด้วย

 

10.สร้างวินัยทางการเงินที่ดี

ข้อที่ 10 นี้สำคัญที่สุดนะครับ สุดท้ายแม้เราจะรู้ถึงวิธีการที่จะเก็บออมเงินให้ได้ 100,000 บาท ไปทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าหากเราไม่มีวินัยทางการเงินที่ดีทำไปพักพักไม่กี่เดือนก็ล้มเลิกก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น การควบคุมจิตใจและสร้างระบบขึ้นมา ก็จะสามารถช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีได้

  • การควบคุมจิตใจ บางครั้งเราอาจเจอสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่จะเร้าให้เรานำเงินมาใช้จ่ายเพราะบางครั้งเพียงคำว่า “ของมันต้องมี” ก็ให้เรากลับไปนึกว่า ณ วันแรกที่เราเคยตั้งเป้าหมายว่าทำไมเราต้องเก็บเงิน 100,000 บาท เพราะอะไร เพื่ออะไร เพื่อใคร การที่เราคิดไปถึงเป้าหมายนะวันแรกจะทำให้เราเดินไปสู่ความสำเร็จได้และควบคุมจิตใจได้ค่อนข้างดีนะครับ
  • สร้างระบบขึ้นมา “เงินที่เราไม่เห็นก็คือเงินที่เราไม่ได้ใช้จ่าย” เราอาจลองตั้งระบบขึ้นมาโดยการเมื่อมีเงินเดือนโอนเข้ามานะวันที่ 1 ก็ให้ตัดเข้าบัญชีออมทรัพย์แบบประจำเลยเพื่อไม่ให้เห็นเงินส่วนนั่นเอง หรืออาจจดบัญชีรายรับ -รายจ่ายหรือใช้แอปพลิเคชั่นก็ได้ในการเก็บข้อมูลว่าเราใช้จ่ายไปกับสิ่งใดบ้างก็จะเป็นระบบที่เตือนเราว่าเราใช้เงินกับสิ่งไหนไปค่อนข้างเยอะก็จะได้ควบคุมตรงนั้นได้ดีขึ้นครับ

 

ก็จบไปกันแล้วนะครับสำหรับบทความนี้แชร์เทคนิควิธีการเก็บเงินอย่างไรให้ได้ 100,000 บาทไวๆ สุดท้ายแผนที่กล่าวมาอาจจะมีการปรับตามความเหมาะสมของตัวเราเอง ก็ขออวยพรให้กับเพื่อนๆประสบความสำเร็จทุกคนมีเงินแสนมั่งคั่งร่ำรวยกันไวๆนะครับ


อ่านบทน่าสนใจอื่นๆได้ดังนี้

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *