ผ่านไปแต่ละปี เรารวยขึ้นรึจนลง

ผ่านไปแต่ละปี เรารวยขึ้นรึจนลง !?

ทำงานกันมา 5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี เราเคยตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเองหรือเปล่าครับว่า ผ่านไปแต่ละปี เรารวยขึ้นหรือจนลง ถ้ายังไม่เคย ผมจะชวนคิดชวนคุยเรื่องนี้กัน

จะว่าไปแล้วการตรวจทานความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำปีของผมเลยก็ว่าได้ ที่เมื่อผ่านพ้นไปในแต่ละปีผมจะกลับมานั่งทบทวนถึงจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินที่ตัวเองมีเช็กเป็นสถานะปัจจุบัน แล้วก็เทียบกันกับปีก่อน

วิธีทำก็ง่ายๆ ครับ หยิบกระดาษ A4 มา 1 แผ่นขีดเส้นแบ่งครึ่งตรงกลาง ด้านซ้ายเขียนรายการทรัพย์สินทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมต่างๆ (อะไรขึ้นชื่อว่าเป็นกองทุนนับให้หมด) หุ้นสหกรณ์ หุ้นสามัญ บ้าน รถยนต์ ทองคำ ทรัพย์สินดิจิทัล และทรัพย์สินอื่นๆรวมทั้งหมดที่เราเป็นเจ้าของ ระบุมูลค่า ณ วันที่ทำรายการใส่ในช่องทางด้านซ้ายมือไมให้ตกหล่น

ส่วนด้านขวามือ ให้เขียนรายการหนี้สินทั้งหมดที่มีไม่ว่าจะเป็นหนี้บริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล หนี้ผ่อนของ หนี้นอกระบบ จัดกันมาให้ครบรวมถึงหนี้ผู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ กู้เรียน รวมทั้งหมดไว้ทางด้านขวา

สุดท้ายให้นำ มูลค่าทรัพย์สินรวม (ทางด้านซ้าย) ตั้งแล้วลบด้วย มูลค่าหนี้รวมทั้งหมด (ทางด้านขวา) ได้ผลลัพธ์เป็นเท่าไหร่ เราเรียกค่าที่ได้นี้ว่า “ความมั่งคั่งสุทธิ” หรือ Net Worth (บางตำราเรียก “ทรัพย์สินสุทธิ”)

ตัวอย่างเช่น ถ้า ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 เรามีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 2,000,000 บาท และมีหนี้สิน รวมคงค้างอยู่ 1,500,000 บาท แบบนี้ก็จะเท่ากับว่าเรามี “ความมั่งคั่งสุทธิ” เท่ากับ 2,000,000 – 1,500,000 หรือ+500,000 บาทนั่นเอง

โดยหลักการแล้ว ถ้าเรามีความมั่งคั่งสุทธิเป็น “บวก” ก็จะถือว่า “ดี” และยิ่งถ้าทุกปีเราทำตัวเลขนี้เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า แล้วพบว่า เป็นบวกมากขึ้นทุกปี แบบนี้ก็แสดงว่า “เรารวยขึ้น”

ในทางตรงกันข้าม หากความมั่งคั่งสุทธิปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว อันนี้ก็แสดงว่า “เราจนลง” ซึ่งก็เกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการมีหนี้บริโภคเพิ่มมากขึ้น (ก่อหนี้ที่ไม่ได้ใช้ซื้อทรัพย์สิน) หรือไม่ก็เป็นเพราะทรัพย์สินบางรายการก็ปีมีมูลค่าลดลง เช่น กรณีหุ้นตก มูลค่ากองทุนรวมลดลง ก็จะเข้าข่ายในลักษณะนี้

ผมมั่นใจว่าถ้าเราหมั่นตรวจสอบความมั่งคั่งของเราอยู่เสมอ และทุกปีเรามีความมั่งคั่งสุทธิเพิ่มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทรัพย์สินเพิ่ม (สะสมเพิ่ม) และหนี้สินลดลงทุกปี (ทยอยใช้หนี้ตามกำหนด แบบนี้รับประกันได้เลยว่าเกษียณแบบสบายครับ เพราะถ้าทรัพย์สินสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แถมหนี้สินยังลดลงเรื่อย ๆ และเคลียร์หมดได้ก่อนเกษียณ แบบนี้รับประกันเลยว่า “Happy Retirement” แน่นอน

ครั้งหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน ผมเล่าเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับองค์กรแห่งหนึ่งฟัง พี่ท่านหนึ่งที่เข้าฟังบรรยายบอกผมว่าเขาทำอย่างที่ผมบอกทุกปี และไม่เพียงแต่นั่งคำนวณตัวเลขทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น พี่เขายังจดรายละเอียดทุกรายการของทรัพย์สิน เช่น ซื้อกองทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไหน เปิดพอร์ตหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์อะไรซื้อประกันชีวิตกับที่ไหน และระบุข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของผู้เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด ทำแบบนี้ แล้วยังอัปเดตข้อมูลเป็นประจำทุกปีพี่เขาเล่าให้ฟังว่า การสรุปข้อมูลรายการทรัพย์สินและหนี้สินในแต่ละปี สำหรับเขาแล้วเหมือนการ “เตรียมตัวตาย” เพราะคนเราเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ เกิดเราลงทุน ซื้อประกันสะสมทรัพย์สินอะไรไม่รู้เต็มไปหมด แต่ไม่ได้บอกคนข้างตัวไว้เกิดปุ๊ปปับจากไป คนข้างตัวก็ไม่รู้ว่าเรามีอะไรสะสมอยู่บ้างกับหนี้สินเขาก็คิดอย่างเดียวกันว่าต้องให้รู้ไว้บ้าง จะได้ไม่ตกใจ “ถ้าเตรียมตัวตายดีๆ รับรองเลยว่าอาจารย์จะไม่ตายอาจารย์จะอายุยื่น ฮ่าฮ่าฮ่า” พี่เขาบอกผมอย่างนั้นในวันที่เจอกันครั้งแรก

หลายปีต่อมา ผมยังไปบรรยายที่องค์กรของพี่เขาอยู่บ่อยๆ แม้จะไม่ได้เป็นคนเข้าฟังบรรยายในคลาส แต่แกก็จะแวะมาทักทายตอนพักกินอาหารว่าง หรือมาแวะส่งตอนกลับ เหมือนเจอน้องเจอคนคุ้นเคย แล้วก็ต้องแวะมาทักทายกันสักหน่อยแม้จะได้พูดคุยกันไม่กี่นาทีก็ตาม

10 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2563 ผมมีโอกาสได้ไปบรรยายที่องค์กรของพี่ท่านนี้อีกครั้ง คราวนี้ผมไปบรรยายเรื่องการจัดการเงินหลังเกษียณ พี่ท่านนี้เข้ามาเป็นนักเรียนในคลาส เพราะสิ้นปีเขาจะเกษียณแล้ว ตลอดการพูดคุยกันในห้องเรียน สิ่งที่ผมรู้สึกได้เลยก็คือ เขาไมได้เดือดร้อน

ที่จะต้องเกษียณ เพราะเตรียมตัวมาดีมาก (ดีมากจริงๆหลังจบการบรรยาย เขาเดินเข้ามาทัก แล้วก็บอกผมว่า “ยังทำรายการทรัพย์สินและหนี้สินอยู่ทุกปีนะอาจารย์ เสียอย่างเดียวคนที่เราเป็นห่วง กลัวว่าเขาจะลำบากถ้าเราไม่อยู่ เขาไปก่อนเราเสียแล้ว ฮ่าฮ่าฮ่า” คนพูดแม้จะมีเสียงหัวเราะ แต่แววตาดูเศร้าชนิดสังเกตได้

“แต่อย่างน้อยที่ทำมาตลอด ก็ดีกับตัวพี่เองต่อจากนี้นะครับ” ผมอยากจะปลอบใจเขา แต่ไม่รู้จะพูดว่าอะไรดีเราสนทนากันเป็นครั้งสุดท้าย เพราะรู้ดีว่าครั้งหน้าที่ผมมาสอนที่นี่ก็คงไม่เจอพี่เขาอีกแล้ว ได้ยินว่าพี่เขาปลูกบ้านไว้ที่ภูมิลำเนาเดิมในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมที่จะเป็นคนเกษียณที่มีความสุขมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งหมดเริ่มต้นง่าย ๆ จากการวัดผลเล็ก ๆ ที่ว่า ในแต่ละปีเรารวยขึ้นหรือจนลง และใส่ใจกับผลของการวัดอย่างจริงจังลองคิดดูง่าย ๆ ว่า ถ้าเราทำงานมาเป็น 10 ปี แต่ความมั่งคั่งสุทธิยังติดลบ มันบอกอะไรกับชีวิตเรา แน่นอนว่ามันไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นจะกลับตัวหรือแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยเห็นตัวเลขสำคัญทางการเงินของตัวเองเลย

หรือถ้าเห็นว่าตัวเลขไม่สวย แต่ละปีความมั่งคั่งสุทธิไม่เพิ่มขึ้น แถมยังลดลง แล้วยังอยู่เฉยได้ คนแบบนี้ก็ยากที่เราจะไปช่วยอะไรเขาได้ ทั้งนี้เพราะหัวใจของการสร้างความสำเร็จทางการเงิน สิ่งแรกคือ ความรับผิดชอบทางการเงินนั้นเอง

ที่มา : Money Mindset

ผู้แต่ง : จักรพงษ์ เมษพันธุ์

สั่งหนังสือได้ที่ลิงค์นี้


แนะนำบทความที่น่าสนใจ