[สรุป+รีวิวหนังสือ] จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

[สรุป+รีวิวหนังสือ] จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

ในบทความนี้ผมจะมารีวิวหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) มาเล่าให้ฟังกันนะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ ผมเห็นมาค่อนข้างนานแล้วในร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ แต่ยังไม่ได้ซื้อมาอ่าน จนมาถึงเมื่อต้นปีผมได้ลองเทรดหุ้น ได้เริ่มลองศึกษาเกี่ยวกับกราฟ เทคนิคอล คนที่สอนกราฟนั้นที่ผมได้ติดตามนั้นแนะนำให้มาอ่านเพราะถือว่าเป็นหนังสือจิตวิทยาว่าด้วยเงินเล่มนี้เป็นหนังสือยอดเยี่ยมในหลายสิบปี จึงได้ลองซื้อมาอ่านดู เมื่อได้ลองอ่านก็ถือว่าเป็นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ค่อนข้างดีมากจริงๆ 

หนังสือจิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) มีจำนวนหน้าทั้งหมด 272 หน้า แต่งโดย Morgan Housel ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนกับ Collaborative Fund และเป็นผู้แต่งหนังสือขายดีเกี่ยวกับการเงินอีกหลายเล่ม โดยหนังสือเล่มนี้นั้น จะไม่ได้กล่าวเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินว่าต้องลงทุนอย่างไร แต่จะพูดไปถึง ความคิด (Mindset) ,จิตวิทยา (Psychology) ทั้งหมดโดยบทที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ บทที่ 9 ความย้อนแย้งของชายในรถยนต์ (Man in the Car Paradox)

สารบัญ

#ทำไมคุณถึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้?

1.หนังสือเล่มนี้จะเน้นหลักๆเกี่ยวกับจิตวิทยาการเงิน 

หนังสือการเงินส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการบอกเล่าถึงหลักการเก็บเงิน หลักการลงทุน รวมถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ แต่ในหนังสือเล่มนี้นั้นจะเน้นหลักๆคือเรื่องของจิตวิทยาการเงินรวมถึงความคิดต่างๆ ให้เราเข้าใจถึงมนุษย์ว่าโดยปกติแล้วความคิดของคนเรานั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าเราเข้าใจถึงจิตวิทยาการเงิน จะทำให้เราสามารถบริหารการเงินตามหลักการได้ดียิ่งขึ้น 

2.อ่านเข้าใจได้ง่ายมาก 

หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้ยกตัวอย่างที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่เป็นเรื่องพื้นฐานในอดีต รวมถึงมีตัวอย่างประกอบแต่ละอย่างทำให้เราสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ใช้เวลาอ่านเพียงไม่นานก็สามารถอ่านได้จบเล่ม 

3.เป็นหนังสือที่หาได้ค่อนข้างยากที่จะเขียนแนวความรู้เรื่องนี้

อย่างที่กล่าวไปครับหนังสือส่วนใหญ่ออกมาก็จะมีเรื่องของการลงทุนหลักๆหรือไม่ก็เรื่องของหลักการการเก็บเงินออมเงิน แต่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการเงินที่ดีๆนั้นไม่สามารถหาอ่านได้ง่ายๆ ซึ่งเล่มนี้เป็นหนังสือจิตวิทยาที่ครบเครื่องในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา 

 

#สรุปเนื้อหาหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

1.ไม่มีใครเป็นคนบ้า (No One’s Crazy)

ในบทนี้จะกล่าวถึงว่าคนส่วนใหญ่นั้นจะมองเรื่องการเงินผ่านจากประสบการณ์ในอดีตที่ประสบผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ การศึกษา วัฒนธรรม พื้นฐานครอบครัว หรือว่าโอกาสที่ได้ ดังนั้นจึงทำให้ของแต่ละคนนั้น เข้าใจคนรอบข้างแตกต่างกันไป รวมถึงเรื่องการเงินอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่นคนที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มา จะมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไม่เหมือนกับเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่เพราะประสบการณ์ที่เขาได้รับทั้ง 2 ช่วงอายุนั้นไม่เหมือนกัน 

หรืออย่างตัวอย่าง bitcoin เด็กที่เข้ามาลงทุนก็คือพวก Gen Y Gen Z ก็จะมีมุมมองไม่เหมือนกับคนยุค Baby boomer เช่นกัน 

2.โชคและความเสี่ยง (Luck & Risk)

โชคลาภและความเสี่ยงนั้นเป็นของคู่กันครับ 

ในหลายๆครั้งที่เราตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างทั้งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ดีแต่มันเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดผลตอบแทนที่ดีเกินคาด เราก็ประเมินว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นดี 

ในทางตรงข้ามบางครั้งเราอาจจะทำสิ่งที่ดีแล้วแต่เราอยู่ในจังหวะที่มันไม่ดีเลยทำให้ผลตอบแทนที่ได้มานั้นไม่ดีตาม

ดังนั้นในบทนี้เวลาที่คุณจะศึกษาความสำเร็จของใครก็ตาม คุณไม่ควรที่จะศึกษาแค่วิธีการคิดของเขาเพราะมันอาจจะอยู่ในจังหวะที่ดีก็เป็นได้ แต่ให้โฟกัสไปที่พฤติกรรมโดยรวมของเขามากกว่าเช่นความเสี่ยง การออม การลงทุน ของเขาในภาพรวมเป็นต้น 

3.ไม่เคยพอ (Never Enough)

มีเรื่องเล่ามากมายนะครับว่า คนบางคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่พอใจกับความสำเร็จของเขา จึงทำให้เขาต้องการเสี่ยงมากขึ้น เช่นการทำการผิดกฎหมาย จนทำให้วันหนึ่งเขาสูญเสียทุกอย่างไปเพราะต้องเข้าคุกเข้าตารางและโดนริบทรัพย์สินไปหมด 

ทักษะทางการเงินที่สำคัญและยากที่สุดคือการรู้จักคำว่า “พอ” ครับ การที่เราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นกับคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าเราเช่นเรามี 1 ล้าน เราก็ไปเปรียบเทียบกับคนที่มี 10 ล้าน หรือถ้าเรามี 10 ล้าน เราก็จะไปเปรียบเทียบกับคนที่มี 100 ล้าน และแน่นอนครับคุณจะไม่มีวันชนะเลย 

ดังนั้นให้คุณโฟกัสที่ความสุข เช่นการได้อยู่ร่วมกับครอบครัว มีเงินใช้จ่ายได้พอเพียงในชีวิต มันจะทำให้คุณมีความสุขและรู้จักคำว่าพอ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าให้คุณมีคำว่าพอในปริมาณที่มีทรัพย์สินน้อยเกินไป จนไม่สามารถที่จะเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสิ่งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลนะครับ 

4.ผลตอบแทนทบต้น (Confounding Compounding)

จริงๆแล้วมีหนังสือหลายเล่มนะครับที่กล่าวถึงผลตอบแทนทบต้นซึ่งรายละเอียดจะเยอะมากๆ แต่ใจความในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่า คุณไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุดในแต่ละปี แต่ให้เน้นถึงการสร้างผลตอบแทนให้เหมาะสมและยืนยาวโดยอยู่ให้นานที่สุด หรือพูดง่ายๆคือเริ่มต้นให้เร็วและอยู่ให้นาน เพราะผลตอบแทนทบต้นนั้นจะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลในระยะยาวนั้นเอง 

ในหนังสือเล่มนี้ก็จะกล่าวถึง Warren Buffett เขามีความมั่งคั่ง ประมาณ 8 หมื่น กว่าล้านเหรียญสหรัฐ แต่มากกว่า 90% ของมูลค่านี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เขาอายุ 60 แล้ว ซึ่งผลตอบแทนก็อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแต่หัวใจหลักๆนั้นคือเขาเริ่มต้นเร็วซึ่งลงทุนตั้งแต่เด็กๆจนตอนนี้เขาอายุมากกว่า 90 ปีแล้วนั่นเอง 

มีนักลงทุนอีกคนนึงคือ Jim Simons ซึ่งสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า Warren Buffett แต่เขานั้นเริ่มลงทุนช้ากว่า จึงทำให้ทรัพย์สินของเขาน้อยกว่า Warren Buffett ถึง 4 เท่านั้นเอง 

5.ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง กับ รักษาไว้ซึ่งความมั่งคั่ง (Getting Wealthy vs. Staying Wealthy)

การลงทุนเพื่อได้รับความมั่งคั่งนั้น ไม่เพียงแค่ที่คุณที่จะตัดสินใจเพื่อได้รับความมั่งคั่งเพียงเดียวเท่านั้นแต่คุณต้องรักษาความมั่งคั่งเหล่านั้นให้อยู่ได้ในระยะยาว 

ตัวอย่างเช่นถ้าคุณสามารถสร้างทรัพย์สินได้มากมายขนาดไหนแต่คุณไม่สามารถรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ได้ในระยะยาว ก็ไม่มีความหมายครับ คุณควรจะเก็บทรัพย์สินเหล่านั้นให้ได้นานที่สุดเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนแบบทบต้น

ซึ่งการรักษาความมั่งคั่งเหล่านี้จะต้องใช้ความถ่อมตนนะครับ และต้องรู้ว่าการที่เราสร้างความมั่งคั่งได้แต่ระดับนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วก็เป็นได้ 

6.หางยาว คุณชนะ (Tails, You Win)

ในบางครั้งที่คุณลงทุนไป คุณอาจจะมีการแพ้บ้าง ซึ่งคุณต้องพยายามที่จะทำให้ขาดทุนให้น้อยที่สุด แต่ในยามที่คุณจะชนะ คุณจะต้องพยายามให้ได้รับผลตอบแทนที่มากเกินคาด ซึ่งในระยะยาวจะทำให้คุณมั่งคั่ง

เหมือนกับการเล่นหุ้นครับ คุณอาจจะถือหุ้นมาซัก 100 ตัว อาจจะมี 90 ตัวที่คนถือและเสมอตัว อาจจะกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุนเล็กน้อย แต่ 10 ตัวที่เหลือนั้นจะต้องทำให้คุณร่ำรวยอย่างมหาศาล 

ดังนั้นแพ้บ้างบางครั้งก็สามารถทำให้คุณบางครั้งได้นะครับ 

7.อิสรภาพ (Freedom)

ความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่คุณมี แต่มันคืออิสรภาพที่สามารถควบคุมชีวิตของคุณได้ คุณสามารถที่จะตื่นขึ้นมาจะทำงานหรือจะนอนต่อหรือจะไปใช้ชีวิตกับคนที่คุณรักได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องของการเงินอีกเลย อันนี้แหละครับถึงเรียกว่าอิสรภาพ 

ถ้าคุณมีรายได้สูง แต่ไม่มีอิสระทางเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณมีความมั่งคั่งเสมอไปนะครับ

8.ความย้อนแย้งของชายในรถยนต์ (Man in the Car Paradox)

ต้องบอกว่าบทนี้เป็นบทที่ผมชอบมากที่สุดนะครับ 

ในความคิดของคนหลายๆคนคิดว่า ถ้าหากเรานั้นได้ขับรถสปอร์ตหรู รถเบนซ์ รถ BMW จะทำให้คนอื่นที่เวลามองเรานั้น รู้สึกว่าเราเป็นคนรวยและดูน่าเคารพ เป็นคนที่เท่จัง 

แต่ในความเป็นจริงแล้วคนอื่นที่มองเข้ามานั้นไม่ได้เคารพตัวคุณหรือชื่นชอบตัวคุณนะครับ ในความเป็นจริงแล้วคนอื่นที่มองมาที่รถของคุณ เขาต้องการที่จะได้รถของคุณต่างหาก เพราะเขานั้นฝันว่าจะได้ขับรถของคุณเพื่อไปเที่ยวยกระดับตัวของเขาคนอื่นมองตัวเขาว่าน่าเคารพเหมือนตอนที่คุณคิดนั่นเอง

ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นต่างหากที่จะนำพาความศรัทธาให้คุณ

9.ความมั่งคั่งคือสิ่งที่คุณมองไม่เห็น (Wealth is What You Don’t See)

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการโชว์ใช้เงินเยอะๆ เพื่อให้ตัวเองนั้นดูร่ำรวย ดูดี หารู้ไม่ว่ามันคือวิธีการที่ทำให้คุณจนลงเร็วที่สุด 

โดยปกติแล้วเวลาที่เรา มองใครหรือตัดสินใจว่าคนนี้คนนั้นร่ำรวยมักจะดูจากสิ่งของแต่จริงๆแล้วมันดูไม่ได้ครับเพราะความมั่งคั่งคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเงินในบัญชีออมทรัพย์ของเขา ทรัพย์สินที่สร้างกระแสรายได้เงินสดให้กับเขา หรือธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้

โลกใบนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่ดูสมถะแต่แท้จริงแล้วมั่งคั่ง และเต็มไปด้วยผู้คนที่ดูร่ำรวยแต่อยู่บนเส้นด้ายแห่งความล้มละลาย

10.เก็บออม (Save Money)

สิ่งเดียวที่คุณสามารถควบคุมได้ในการสร้างความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องคือการเก็บออมเงิน ซึ่งมันอาจจะดูน่าเบื่อนะครับแต่จริงๆแล้วมันคือวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าคุณต้องการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเยอะๆแต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และอาจจะมาพร้อมกับความเสี่ยง รวมถึงการสร้างรายได้ให้มากขึ้นก็ต้องใช้เวลารวมถึงจังหวะและโอกาสก็เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้เวลาและควบคุมได้ค่อนข้างยาก 

11.สมเหตุสมผล มากกว่ายึดเหตุผล (Reasonable > Rational)

คนเราเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกครับ การที่เราจะทำตามทฤษฎีการเก็บเงินออมเงินลงทุนตามหนังสือเป๊ะๆ คงทำได้ค่อนข้างยาก และในระยะยาวก็คงจะไม่มีความสุข บางครั้งเราก็สามารถลดหย่อนให้มันสมเหตุสมผลเพื่อให้มีความสุขในระยะยาวได้นะครับ 

12.เซอร์ไพรส์ ! (Surprise!)

คนเรามักศึกษาสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต เพื่อหาจุดที่ทำแล้วมันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค แล้วมากำหนดว่าอนาคตถ้าทำแบบนั้นแล้วมันจะทำให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน ต้องบอกว่ามันไม่ได้เป็นรูปแบบนั้นเสมอไปนะครับ ซึ่งนี่ก็คือข้อผิดพลาดของนักลงทุนที่ใช้ข้อมูลอดีตในการคาดการณ์อนาคต

ในการที่เราดูแค่ Key Success ในอดีตแบบตรงๆ โดยไม่คิดถึงสภาพแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็อาจจะไม่ทำให้ประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตนะครับ ดังนั้นให้ดูถึงภาพรวมทั้งข้อมูลในอดีตและสถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันด้วย

13.เผื่อที่ให้กับความผิดพลาด (Room for Error)

การทำงานนั้นจะต้องมีแผนสำรองเสมอนะครับ เมื่อเราได้ทำตามแผนแต่สิ่งนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เราคาดการณ์เอาไว้เราจะทำการปรับแผนอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณต้องการลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัวที่คุณรัก แต่ปรากฏว่าธุรกิจส่วนตัวนั้นคุณไม่สามารถสร้างรายได้ตามที่คุณคาดหวังไว้จนไม่พอกับรายจ่ายต่อเดือน คุณจะต้องมีแผนสำรองว่าจะต้องทำอย่างไร เช่นคุณอาจจะต้องมีการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้สัก 1 ปี หรือกลับไปหางานประจำทำต่อเป็นต้น

14.คุณจะเปลี่ยนไป (You’ll Change)

การวางแผนระยะยาวนั้นยากกว่าที่เห็น เพราะเป้าหมายและความปรารถนาของเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่คุณยังเป็นเด็กคุณอาจจะอยากเป็นตำรวจ แต่เมื่อโตขึ้นมาแล้วคนก็อาจจะอยากเป็นหมอ และเมื่อคุณได้มาทำงานเป็นหมอจริงๆ ก็ปรากฏว่างานหนักและคุณอาจจะไม่ชอบ พอผ่านไปก็อยากมาเป็นนักลงทุนเพื่อที่จะได้มีเวลาและอยู่กับคนที่คุณรัก 

ดังนั้นในการวางแผนระยะยาวควรจะคำนึงถึง 2 ประเด็นคือ

  • ไม่ควรวางแผนที่สุดโต่งเกินไปในทางใดทางหนึ่ง อย่างเช่น คุณอาจจะคิดว่าคุณเป็นคนประหยัด จึงไม่จำเป็นจะต้องมีเงินตอนเกษียณเยอะ หรือคุณอาจจะใช้เวลาหาเงินเยอะเกินไปเพื่อจะได้เกษียณอย่างสบาย ทั้งสองอย่างนี้อาจจะทำให้คุณเสียใจภายหลัง เพราะคุณอาจจะมีเงินไม่พอตอนเกษียณ หรือคุณอาจจะเสียดายเวลาที่ไม่ได้ให้กับคนรอบข้างเพราะใช้เวลากับการหาเงินมากเกินไป
  • คุณจะต้องคำนึงว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอด ฉะนั้น คุณต้องเปลี่ยนแปลงทิศทางได้เช่นกัน คุณไม่จำเป็นจะต้องยึดติดหรือเสียดายกับสิ่งที่ทำลงไปแล้ว

15.ไม่มีอะไรได้มาฟรี (Nothing’s Free)

ทุกอย่างมักจะมีราคาของตัวมัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีป้ายราคาแปะไว้ก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนในกองทุนที่ทางหนังสือที่ช่วยบอกว่าคุณจะได้ผลตอบแทนปีละ 8% ก็ยังมีค่าธรรมเนียม ความผันผวน ความไม่แน่ใจ เวลา ที่คุณจะต้องจ่ายลงไป 

16.คุณและผม (You & Me)

จงระวังคำแนะนำทางการเงิน จากคนที่เล่นเกมต่างจากคุณ

ตัวอย่างเช่นถ้าคุณถือหุ้นในระยะยาวแต่คุณไปฟังคำแนะนำกับคนที่ถือหุ้นรายวันหรือเดย์เทรด แน่นอนครับคุณคงจะซื้อหุ้นแล้วถือในระยะยาวไม่ได้ ซึ่งมันเป็นเกมการลงทุนที่ต่างจากคุณ 

17.ความเย้ายวนของการมองโลกในแง่ร้าย (The Seduction of Pessimism)

การมองโลกในแง่ดีนั้นฟังดูเหมือนจะเป็นปกติ ส่วนการมองโลกในแง่ร้ายฟังดูคล้ายใครบางคนกำลังพยายามช่วยคุณ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนนี้ข่าวเศรษฐกิจดีมากๆ ทุกคนก็คงจะเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่าวิกฤตใกล้จะมาแล้ว ทุกคนก็คงจะระมัดระวังมากขึ้น

18.เวลาที่คุณมีความเชื่อในเรื่องใดก็ตาม (When You’ll Believe Anything)

มนุษย์เรามีความสามารถสร้างเรื่องราวจนกลายเป็นความเชื่อ และยิ่งเราต้องการให้มันเป็นจริงเท่าไหร่ เราก็จะคิดว่าความเป็นไปได้ของมันสูงกว่าความเป็นจริง และไม่มีใครที่จะสามารถมองโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกมุมมอง แต่เราสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น

19.เอาเรื่องทั้งหมดมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน

ในบทนี้จะนำข้อคิดต่างๆขอหนังสือเล่มนี้มารวมไว้ในบทความเดียวกัน ต่อไปเราจะมาดูคำแนะนำสั้นๆจำนวนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจเรื่องเงินของตัวคุณเองได้ดีขึ้น

  • ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การประหยัดในวันนี้จะเพิ่มหนทางให้คุณในวันหน้า
  • บริหารจัดการเงินของคุณในแบบที่จะทำให้คุณนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน
  • ถ้าหากว่าคุณต้องการเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น สิ่งที่มีพลังมากที่สุดสิ่งเดียวที่คุณทำได้ก็คือการเพิ่มระยะเวลาการลงทุนของคุณ
  • เป็นคนที่โอเคกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามที่คิด คุณสามารถที่จะทำผิดได้ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด แต่ยังสร้างความมั่งคั่งได้
  • เงินควรจะเป็นเครื่องมือในการสร้างอิสรภาพทางเวลาให้ตัวคุณ
  • เป็นคนที่ดีขึ้นและหรูหราน้อยลง
  • ออมเงินตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล
  • หาต้นทุนของความสำเร็จให้เจอและเตรียมพร้อมที่จะจ่ายมัน
  • ยกย่องบูชาพื้นที่เผื่อความผิดพลาด
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจทางการเงินแบบสุดโต่ง
  • ความเสี่ยงทำให้ได้ผลตอบแทน แต่อย่าเสี่ยงจนทำให้ทุกอย่างพังทลาย
  • รู้ว่าตัวเองเล่นเกมการเงินอะไรอยู่ และประพฤติตามนั้น
  • ไม่มีใครสามารถอธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับการเงินได้และไม่มีคำตอบคำตอบเดียวเกี่ยวกับการเงิน มันมีแค่คำตอบที่เวิร์คสำหรับตัวคุณ

ก็จบไปแล้วนะครับ สำหรับสรุป รีวิวหนังสือจิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) โดยส่วนตัวผมมองว่าหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างครบเครื่องในเรื่องจิตวิทยาซึ่งมีคนน้อยคนนะครับที่สามารถเขียนแล้วอธิบายได้อย่างชัดเจนได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่ดีมากอีกเล่มหนึ่งกับคนที่ต้องการอ่านแล้วพัฒนาด้านการเงินของตัวเองนะครับ

สามารถซื้อหนังสือได้ที่ลิงค์นี้


แนะนำบทความที่น่าสนใจ